วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง

หลังจากที่เกิดการปฏิวัตจากเหล่าทหารและตำรวจเมื่อวันที่ 19 กย. 2549 แล้ว สังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมายหลายอย่าง ทำให้ประชาชนทั่วไปต้องมีการปรับตัวปรับความรู้สึกให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นให้ได้ มีทั้งในทางที่ดีขึ้นและเลวร้ายลง ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละบุคคลว่าจะมองไปในทางแง่มุมใด การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ พอจะแยกได้เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ได้ดังนี้
-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง
หลังจากที่มีการปฏิวัติแล้ว รัฐบาลก็เปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลทหารในทันที ถึงแม้ว่าจะมีการบอกกล่าวว่าเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดระเบียบด้านการเมืองใหม่ก็ตามแต่ก็มีการจัดการในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านงบประมาณ การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ตลอดจนนโยบายการเมืองและการไล่ล่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดอย่างมากมาย โดยมีการกล่าวอ้างว่าเพื่อเป็นการปูพื้นฐานสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใหม่ พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็มีการเตรียมพร้อมที่จะลงเลือกตั้งและมีการแตกตัวจากการร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลเดิม หรือฝ่ายค้าน เพื่อดูทิศทางทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น มีพรรคการเมืองที่เกิดใหม่มากขึ้น และเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองกันอย่างมากมาย ทำให้เห็นถึงสัจธรรมที่ว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในวงการเมืองได้อย่างแจ่มชัด ซึ่งการที่มีการร่วมมือกันระหว่างพรรคหลายๆพรรค ทำให้การเมืองของเมืองไทยขณะนี้ ไม่ค่อยมีเสถียรภาพมากเท่าไรนัก เพราะจะมีการต้องเกิดการต่อรองทางด้านตำแหน่งความสำคัญของแต่ละพรรคเกิดขึ้น ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า ไม่ค่อยมีความสามัคคีในฝ่ายรัฐบาลเท่าใดนัก มีการเสนอนโยบายที่มาจากคนละพรรค ซึ่งก็มีคนเห็นด้วยบ้าง หรือไม่ก็ถูกยกเลิกไปบ้าง ทำให้ดูเหมือนกับว่า รัฐบาลนี้ กำลังเดินไปข้างหน้าอย่างไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ถนนที่ต้องเดินผ่านไปเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า รัฐบาลนี้จะสามารถประคับประคองให้อยู่รอบตลอดวาระได้หรือไม่ หรือจะมีการต้องเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นในอนาคนอันใกล้นี้
-การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
หลังจากที่เกิดการปฏิวัติ เศรษฐกิจไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดิ่งลงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลปัญหาทางด้านการเมืองที่ยังไม่สงบลง หรือจะด้วยเหตุผลที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกซึ่งทำให้ชาวต่างชาติที่ลงทุนหรือคิดจะมาลงทุนไม่แน่ใจที่จะเข้ามาในเมืองไทยต่างก็พากันถอนตัวออกไปอย่างมากมาย มีการปิดตัวธุรกิจต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือใหญ่ก็ตาม ทำให้เศรษฐกิจของเมืองไทยดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ประชาชนตกอยู่ในภาวะตกงาน และทำให้กระแสการเงินติดขัด ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายแจกเงิน ให้ประชาชนไปเพื่อดึงให้มีการหมุนเวียนกระแสการใช้เงินมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมากนัก ตลอดจนจากนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย เรียนฟรี นโยบายการขึ้นรถฟรี ค่าน้ำค่าไฟ ที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลเดิม ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลขาดแคลนงบประมาณมากขึ้น เนื่องจากงบประมาณเดิมเองก็ได้หมดไปตั้งแต่ตอนที่เป็นรัฐบาลทหารแล้ว ทำให้รัฐบาลใหม่ ต้องหาเงินเพิ่มไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมจากต่างชาติ หรือการออกพันธบัตรขายให้แก่ประชาชนก็ตาม โดยกล่าวว่าเพื่อจะได้นำมาลงทุนสร้างงาน เพื่อที่จะได้มีงานเพิ่มขึ้น ให้ประชาชนมีงานทำมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะมีการหมุนเวียนได้ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นไปได้ตามที่คาดหวังนี้จริงก็จะสามารถทำให้ ประชาชนมีความเป็นอยู่ทีดีขึ้นได้ แต่เมื่อดูจากสายตาจากสถาบันที่เกี่ยวของกับธุรกิจในต่างประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่า ต่างชาติ ยังไม่วางใจมากพอที่จะเข้ามาทำธุรกิจเพิ่มเติมในไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า ขณะนี้ ทุกประเทศเองต่างก็กำลังประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ถ้าคิดจะลงทุนอะไร ก็จะต้องคิดแล้วว่า เขาจะต้องได้ประโยชน์อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากประเทศไทยขณะนี้ สถานการณ์บ้านเมืองยังคงไม่นิ่งพอ มีกลุ่มคนที่แตกต่างทางด้านความคิดกันหลายกลุ่ม และมีการต่อต้านเกิดขึ้นอย่างมากมาย รัฐบาลเอง ต่างชาติก็มองว่ายังขาดเสถียรภาพ ไม่มั่นคง พอที่จะทำให้เชื่อถือได้ ทำให้ยังคงหวังได้ยากว่า ระบบเศรษฐกิจของเมืองไทย จะดีขึ้นในเร็ววันนี้


-การเปลี่ยนแปลงทางด้านความน่าเชื่อถือของต่างประเทศ
เมื่อมีการปฏิวัติเกิดขึ้น แน่นอนว่า ต่างชาติ ย่อมจับตามองอยู่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใด เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่า ต่างชาติ ย่อมไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเทศไทยในเรื่องภายในอย่างแน่นอน แต่ทว่า ในปัจจุบัน ไทยมิได้เป็นประเทศที่อยู่เพียงลำพังโดยไม่ต้องพึ่งพาใครหรือไม่ต้องคบหาใครได้ เหมือนเช่นในอดีต เราจึงย่อมต้องพึ่งพาและต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมโลกด้วย ในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นได้ว่า สังคมโลกเปลียนไปอย่างมาก การแบ่งค่ายเป็นประเทศเสรี หรือประเทศ สังคมนิยมหรือสังคมเผด็จการนั้น มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมีอิสระเสรีและให้เสรีภาพทางด้านความคิดแก่ประชาชนมากขึ้น และให้ความสำคัญกับระบบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ดังนั้น การที่เรามีเหตุการณ์ที่ดูเหมือนกับการยึดอำนาจโดยคนกลุ่มน้อยเพื่อให้กลุ่มคนที่ได้รับเลือกมาจากคนกลุ่มใหญ่ของประเทศพ้นจากการบริหารงานไปนั้น ย่อมดูไม่ดีในสายตาคนต่างชาติ อย่างแน่นอน เพราะต่างชาติย่อมจะยึดถือว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ควรจะต่อสู้กันด้วยการใช้เหตุผลมากกว่าที่จะอารมณ์หรือความรุนแรงเข้า ต่อสู้กัน ซึ่งการใช้อารมณ์หรือความรุนแรงนั้น ไม่เคยได้รับผลที่ดีพร้อม ไม่ว่าอย่างไร ก็ย่อมที่จะมีการสูญเสียเกิดขึ้นแก่คนหมู่มากเสมอ ถ้าเราเห็นหรือมองว่าใครกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ต้องหาหลักฐานมายืนยันความผิดนั้นให้ได้ ถึงแม้ว่าในสังคมไทยนั้นจะทำได้ยากก็ตามที เพราะไม่ว่าใคร ถ้าขึ้นมามีอำนาจ ก็จะใช้อิทธิพลทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์และความปลอดภัยของตัวเองเสมอ อันแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอ ของสถาบันการปกครอง สถาบันของเหล่าผู้พิทักษ์ความถูกต้องทั้งหลาย ตลอดจนความไม่เด็ดขาดของกฏหมายไทยให้ชาวต่างชาติได้เห็นมากขึ้น
ซึ่งเมื่อชาวต่างชาติได้เห็นแบบนี้ย่อมที่จะไม่มีความมั่นใจเต็มร้อยพอที่จะกล้าเข้ามาที่จะลงทุนหรือแม้แต่จะมาท่องเที่ยวซึ่งเป็นการเอาเม็ดเงินเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ยึดสนามบิน การไปประท้วงยึดโรงแรมที่มีการประชุมระดับประเทศ หรือการปิดถนนไม่ให้คนเดินทางไปมาได้ ต้องมีการปิดโรงเรียน หรือหยุดงาน โดยที่ฝ่ายที่มีหน้าที่ป้องกันและรักษาความปลอดภัยไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงความอ่อนแอ ขาดความมั่นคงของรัฐบาล และทำให้ต่างชาติไม่เชื่อถือในรัฐบาล ในสถานการณ์ และในกระบวนการปฏิบัติงานของข้าราชการไทยได้ ซึ่งยิ่งจะทำให้ประเทศไทยในสายตาของทั่วโลกนั้น ไม่ค่อยดีนัก และขาดน้ำหนักในการที่จะเจรจาไม่ว่าจะในเรื่องใดก็ตาม ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องไปถึงระบบเศรษฐกิจของชาติไปด้วย และทำให้ความคาดหวังที่จะพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่จะมาต่างชาติก็ย่อมจะไม่มีผลไปด้วย

1 ความคิดเห็น:

  1. Veeje Vidya (Famicom) Videos - Veeje Vidya (Famicom) Videos
    Veeje Vidya, Veeje Vidya (Famicom). Photo by veeje vidya (Famicom). Veeje Vidya. Veeje Vidya. Veeje Vidya. Veeje Vidya. youtube to mp3 online Veeje Vidya.

    ตอบลบ