วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552

เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผลการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี
เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม
ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดั้งนี้
ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานเทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่ามีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว
อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม
ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ
กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง
ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น
การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนาหรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด
แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่
นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จขึ้น ครองสิริราชสมบัติ เมื่อ พุทธศักราช 2489 เป็นต้นมา
พระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐาน และเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกร โดยเฉพาะประชาชนในชนบทและท้องถิ่นทุรกันดารทั่วราชอาณาจักรอย่างสม่ำเสมอ พระองค์ได้ทรงประสบกับความทุกข์ยากของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะพสกนิกรที่เป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนเหล่านี้ล้วนแต่ประสบกับปัญหาในการประกอบอาชีพเนื่องจากอาชีพการเกษตรนั้นต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อันได้แก่ดิน น้ำ ลมฟ้าอากาศ รวมทั้งศัตรูพืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากเมื่อก่อนดินเคยอุดมสมบูรณ์ปลูกพืชอะไรก็เจริญเติบโต สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลได้ แต่ปัจจุบันดินมีสภาพเสื่อมโทรมขาดแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช โรคและแมลงศัตรูต่าง ๆ ก็ระบาดรุนแรงมากขึ้น ปลูกพืชอะไรถ้าหากไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ก็จะไม่ได้เก็บเกี่ยวผลิตผล ไม่เพียงแต่โรคและแมลงศัตรูพืชเท่านั้น ยังมีภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหาในการประกอบอาชีพของเกษตรกร เช่นฝนแล้ง น้ำท่วม พายุ ลูกเห็บ เป็นต้น นอกจากนี้ การประกอบอาชีพทางการเกษตรนั้น ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมอื่นๆเช่น สภาวะ
เศรษฐกิจและการตลาดเป็นสำคัญ ถ้าหากปีใดเศรษฐกิจดี ตลาดมีความต้องการสูง ราคาผลิตผลทางการเกษตรก็จะดีไปด้วย เกษตรกรที่ประกอบอาชีพนี้ ก็จะขายผลิตผลได้ ในราคาสูง สามารถมีรายได้ เพียงพอ ต่อการครองชีพ ภายในครอบครัว แต่ถ้าหากปีใดเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป ประสบกับภาวะขาดทุน บางรายถึงกับล้มละลายไปก็มีไม่น้อย
ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงทราบและตระหนักถึงความทุกข์ยาก
ของพสกนิกรของพระองค์ จึงทรงพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพของเกษตรกรโดยเน้นที่เกษตรกรยากจนในเขตน้ำฝน ซึ่งมีอยู่กว่าร้อยละ 70 ของเกษตรกรทั้งประเทศ เกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 5-15 ไร่ แนวทางในการแก้ปัญหาก็คือ การจัดการแหล่งน้ำให้พอเพียงต่อการปลูกพืชในช่วงที่ไม่มีฝน เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปลูกพืช หากมีน้ำเพียงพอ เกษตรกรก็สามารถปลูกพืชได้ทั้งปี มีงานทำและมีรายได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องอพยพเคลื่อนย้ายไปทำงานที่อื่น ดังกระแสพระราชดำรัสความว่า "หลักสำคัญต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่ามีชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้" นอกจากการจัดการในเรื่องแหล่งน้ำแล้ว การแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพตามแนวพระราชดำรินี้ ิ ยังเน้นการจัดการระบบการปลูกพืชที่เหมาะสม เช่น แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ไว้บริโภคในครอบครัว และพื้นที่ปลูกพืชอื่น ๆ ไว้บริโภค ใช้สอย และจำหน่ายแนวทางการประกอบอาชีพการเกษตรแบบนี้จะทำให้เกษตรกรมีงานทำ มีอาหารไว้บริโภค มีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ อันจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นับว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติในอนาคตแนวคิดในการแก้ปัญหาการประกอบอาชีพการเกษตร ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นี้ จึงเรียกว่า "ทฤษฎีใหม่"
การเข้าสู่ความพอเพียงตามขั้นตอนของทฤษฎีใหม่
เหตุที่เรียกว่า "ทฤษฎีใหม่"
- มีการจัดแบ่งที่ดินออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรรายย่อยเนื้อที่ที่ถือครองขนาดเล็ก ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
- มีการคำนวณปริมาณน้ำกักเก็บให้เพียงพอในการเพาะปลูกตลอดปีโดยหลักวิชาการ
- มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ ให้แบ่งพื้นที่ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทยมีเนื้อที่ถือครองประมาณ 10 - 15 ไร่ ต่อครอบครัว และแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ (1) แหล่งน้ำ (2) นาข้าว (3) พืชผสมผสาน (4) ที่อยู่ โครงสร้างพื้นฐานในอัตราส่วนร้อยละ 30:30:30:10 ตามลำดับ โดยมี 3 ชั้น ๆ ละ อัตราร้อยละ 30 ดังนี้
ส่วนแรก ร้อยละ 30 ให้ขุดสระกักเก็บน้ำในฤดูฝนไว้เพาะปลูกและใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้งได้ตลอดปี ทั้งยังใช้เลี้ยงปลาและปลูกพืชน้ำ พืชริมสระเพื่อบริโภคและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย โดยพระราชทานแนวทางการคำนวณว่าต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการเพาะปลูก 1 ไร่ โดยประมาณ และบนสระน้ำอาจสร้างเล้าไก่ เล้าหมูได้ด้วย
ส่วนที่สอง ร้อยละ 30 ให้ทำนาข้าว เนื่องจากคนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยมีเกณฑ์เฉลี่ยเกษตรกรบริโภคข้าวคนละ 200 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อปี เกษตรกรมีครอบครัวละ 3 - 4 คน ดังนั้น ควรปลูกข้าว 5 ไร่ ผลผลิตประมาณไร่ละ 30 ถัง ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างมีอิสรภาพ
ส่วนที่สาม ร้อยละ 30 ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้ทำเชื้อเพลิง ไม่สร้างบ้าน พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อการบริโภคและใช้สอยอย่างพอเพียง หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่ายเป็นรายได้ต่อไป
ส่วนที่สี่ ร้อยละ 10 เป็นที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ เช่น ถนน คันดิน ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด พืชผักสวนครัว เป็นต้น
ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า
หลักการที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดเป็นทฤษฎีขั้นที่หนึ่งเท่านั้น เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นพออยู่พอกิน และตัดค่าใช้จ่ายลงเกือบทั้งหมด มีอิสระจากสภาพปัจจัยภายนอกแล้ว และเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สอง และขั้นที่สาม ต่อไปตามลำดับ ดังนี้
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง
เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังในรูป กลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ดำเนินการในด้าน
การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)
- เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมดินการหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การจัดหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)
- เมื่อมีผลผลิตแล้วจะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดีและลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)
- ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร การกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)
- แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริหารที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน
การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา)
- ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
สังคมและศาสนา
- ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าส่วนราชการองค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม
เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต
ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารหรือบริษัทเอกชน จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
- เกษตรกรขายข้าวในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
- ธนาคารหรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
- เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ ราคาขายส่ง)
- ธนาคารหรือบริษัทเอกชน จะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
ประโยชน์และความสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่
"เกษตรทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหนึ่งซึ่ง เป็นความหวังที่จะทำให้เกษตรกรไทย มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
ขึ้น และจะทำให้ระบบเศรษฐกิจ ของประเทศชาติโดยรวม มีความเข้มแข็งและมั่นคงตลอดไป เนื่องจากการ เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นการพัฒนาการประกอบอาชีพของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อเกษตรกรมีอาหารไว้บริโภค มีงานทำ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และครอบครัวอยู่อย่างอบอุ่นและมีความสุขถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีสภาพเช่นนี้แล้ว ก็จะทำให้ ประเทศชาติ มั่นคงทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เกษตรทฤษฎีใหม่ จึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อประเทศชาติยิ่ง ความสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่ สรุปได้ดังนี้
1. เกษตรทฤษฎีใหม่สามารถลดและแก้ปัญหาภัยแล้งได้
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศไทยคือกว่าร้อยละ70อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งเป็นเขตการเกษตรที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประเทศไทยมีระบบชลประทานทั้งประเทศประมาณ ร้อยละ 21 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้น หลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่ก็คือการขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงที่มีฝนตกสำหรับเก็บไว้ใช้ในการเกษตรยามขาดแคลนซึ่งจะทำให้เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรในเขตน้ำฝนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำไว้ใช้ในยามที่ขาดแคลนนับว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นี้สามารถแก้ปัญหาหรือลดปัญหาความแห้งแล้งที่เกษตรกรประสบอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบันได้ในระดับหนึ่ง
2.เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้การใช้พื้นที่การเกษตรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จากหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการจัดสรรพื้นที่ปลูกพืชอย่างเหมาะสม เช่น แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว และปลูกพืชชนิดอื่นๆ ได้แก่ พืชไร่ ไม้ผล พืชผัก สมุนไพร และไม้ใช้สอย รวมทั้งมีการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย และในบริเวณที่อยู่อาศัยนี้เอง สามารถใช้เป็นที่ปลูกผักสวนครัว เพาะเห็ด และเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค การจัดสรรพื้นที่แบบนี้จะทำให้พื้นที่ทุกส่วนได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สามารถใช้พื้นที่ได้ตลอดทั้งปี ผิดกับเมื่อก่อนที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะปลูกพืชชนิดเดียว พื้นที่ก็ไม่ได้นำมาใช้เต็มที่ มีการใช้เฉพาะที่หรือบางฤดูกาลเท่านั้น

3. เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้เกษตรกรมีอาหารไว้บริโภคอย่างเพียงพอ
การแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ อันได้แก่ ส่วนแรกประมาณร้อยละ 30 สำหรับขุดสระน้ำ สามารถใช้เลี้ยงปลาไวบริโภค ในครัวเรือนได้ ส่วนที่ 2 ประมาณร้อยละ 30 ใช้สำหรับปลูกข้าว จะทำให้ เกษตรกรมีข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักไว้บริโภค ภายใน ครัวเรือน อย่างเพียงพอ ตลอดทั้งปี ส่วนที่ 3 ประมาณร้อยละ 30 ใช้สำหรับปลูกพืชชนิดอื่นๆ เช่น พืชไร่ไม้ผล พืชผัก ผลิตผลจากพืชเหล่านี้ก็สามารถนำมาบริโภคได้เช่นกัน นอกจากนี้ บริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยก็สามารถใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ด สำหรับใช้เป็นอาหารบริโภคภายในครัวเรือน จึงถือได้ว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ สามารถทำให้เกษตรกรมีอาหารไว้บริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
4.เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
เนื่องจากเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นระบบการเกษตรที่จัดให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร มีการจัดสรร พื้นที่ สำหรับปลูกพืชหลายชนิดอย่างเหมาะสม และหมุนเวียนปลูกพืชได้ตลอดทั้งปีเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างคุ้มค่าและมีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปีโดยรวมแล้วจึงทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นต่างจากเมื่อก่อนที่เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกพืชชนิดเดียวหรือมีเพียงครั้งเดียวในหนึ่งปี จึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

5. เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้เกษตรกรมีงานทำตลอดทั้งปี
โดยปกติแล้วเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานนั้น จะประกอบอาชีพหรือปลูกพืชเพียงปีละครั้ง มีช่วงระยะเวลาการทำงานในแต่ละปีประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น เวลาที่เหลือก็เป็นการว่างงานตามฤดูกาล บางรายก็ต้องเดินทางไปทำงานที่อื่น แต่เมื่อเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่แล้ว ทำให้มีงานทำตลอดทั้งปี ไม่ต้องไปหางานทำที่อื่น นับว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ช่วยแก้ปัญหาการว่างงานในท้องถิ่นที่เป็นการว่างงานตามฤดูกาลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานของประชากรในระดับชุมชนและระดับประเทศได้ เพราะถ้าหากเกษตรการมีงานทำมีรายได้ในท้องถิ่นของตนเองแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปทำงานที่อื่น
6.เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้ปัญหาสังคมลดลง
จากที่กล่าวมา นับว่าเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถทำให้เกษตรมีอาหารไว้บริโภค มีงานทำ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เกษตรกรก็ไม่ต้องไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมหรือบริการตามเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ เพราะการที่เกษตรกรต้องอพยพไปอาศัยอยู่ตามเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่นั้นก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัยและชุมชนแออัด นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาในด้านครอบครัวของเกษตรกรเอง เพราะเมื่อเกษตรกรออกไปทำงานที่อื่น ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมามากมาย เช่น บุตรหลานไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากบิดามารดา ขาดการศึกษา ติดยาเสพติด ซึ่งล้วนแต่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ แต่เมื่อเกษตรกรทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ จะทำให้เกษตรกรมีงานทำอยู่กับบ้าน มีเวลาอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะลดน้อยลง

7. เกษตรทฤษฎีใหม่สามารถลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้
ลักษณะของเกษตรทฤษฎีใหม่นั้นจะเน้นการใช้แรงงานภายในครอบครัว ถ้าเกษตรกรมีสมาชิกภายในครอบครัว5-6 คน ก็จะสามารถมีแรงงานเพียงพอสำหรับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ได้ การดำเนินงานก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องจักรและอุปกรณ์จากภายนอกหรือจากต่างประเทศมากนัก อีกประการหนึ่งแนวทางของเกษตรทฤษฎีใหม่มักจะเน้นการใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ในการปลูกพืช และการใช้สารสกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพร ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช
8.เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมั่นคงยิ่งขึ้น
ดังคำที่กล่าวกันมาตั้งแต่อดีตว่า "ชาวนา คือ กระดูกสันหลังของชาติ" เกษตรทฤษฎีใหม่จะทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติมีความมั่นคง เนื่องจากมีงานทำ มีอาหารบริโภค มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงทำให้เกษตรกรมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยตามอัตภาพ ดังนั้นเมื่อเกษตรกร ซึ่งเป็นฐานของประเทศมีความมั่นคง ก็จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงระบบเศรษฐกิจ ของประเทศส่วนรวมก็จะมั่นคงตามมาด้วย และถ้าหากเกษตรกรไทยปฏิบัติ หรือทำเกษตรทฤษฎีใหม่และยึดหลักการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นเวลานานแล้วประเทศชาติก็คงไม่ต้องประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน

9. เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นทฤษฎีที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อนำทฤษฎีนี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมทั้งยึดหลักการพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัดก็จะเป็นที่มั่นใจได้ว่าประชากรจะมีแต่ความสมบูรณ์พูนสุข ไม่มีปัญหาการว่างงานและขาดแคลนอาหารบริโภค ปัญหาต่าง ๆ ของสังคม ก็จะลดน้อยลง ประเทศชาติก็จะมั่นคงแข็งแรง ลดการพึ่งพาจากภายนอกหรือต่างประเทศ ดังนั้น การพัฒนาการประกอบอาชีพการเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นี้ จะเป็นการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น